กลับสู่ความรู้สู่ประชาชน

  คุณรู้จักเบาหวานขึ้นตาหรือยัง?    

เบาหวานขึ้นตา คุณรู้จักดีหรือยัง? โดย ผศ.พญ.ปฐมา ภูรยานนทชัย

เป็นเบาหวานต้องตรวจตาด้วยหรือ?

     เบาหวานขึ้นตา (diabetic retinopathy, DR) เป็นความผิดปกติของจอตาหรือเรติน่า (retina) ที่เป็นภาวะแทรกซ้อนอย่างหนึ่งจากโรคเบาหวาน และเป็นภัยเงียบที่มักจะแอบแฝงตัวไม่แสดงอาการใดๆในระยะแรก การมองเห็นจะยังเป็นปกติจนกระทั่งเป็นมากขึ้นจึงจะมีอาการตามัว จึงมักทำให้ผู้ป่วยเบาหวานชะล่าใจไม่ได้มารับการตรวจหาภาวะเบาหวานขึ้นตา (DR screening) การตรวจตาเพื่อมองหาเบาหวานขึ้นตาก็ต้องเป็นการตรวจพิเศษที่ต้องมีการหยอดยาขยายม่านตาดูจอตาด้วย การตรวจเพียงภายนอกและไม่ได้หยอดยาขยายม่านตาอาจไม่เพียงพอที่จะตรวจพบภาวะเบาหวานขึ้นตาในระยะเริ่มแรก

เบาหวานขึ้นตาคืออะไร?

     เบาหวานขึ้นตา เป็นลักษณะของความผิดปกติของหลอดเลือดที่มาเลี้ยงลูกตาในชั้นจอประสาทตา อาจมีการโป่งพองเป็นกระเปาะ หรือเกิดหลอดเลือดงอกใหม่ผิดปกติ หรือมีการรั่วซึมของเลือด น้ำ หรือไขมันออกนอกหลอดเลือดมาแทรกอยู่ในชั้นจอตาทำให้จอตาบวม หรือหากเป็นมากก็อาจมีเลือดออกในน้ำวุ้นตาทำให้ตามัวได้มากๆ ผู้ป่วยเบาหวาน ไม่ว่าเป็นแบบชนิดที่ 1 ซึ่งเป็นในคนอายุน้อยกว่า 30 ปี หรือชนิดที่ 2 ซึ่งเป็นในอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป มีความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนทางตาจากเบาหวานได้ทั้งสิ้น อุบัติการณ์การเกิดเบาหวานขึ้นตา สัมพันธ์โดยตรงกับระยะเวลาที่เป็นเบาหวาน ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 มักจะยังไม่พบภาวะแทรกซ้อนนี้ใน 5 ปีแรก ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 พบเบาหวานขึ้นตาได้ที่ 2-3 ปีหลังวินิจฉัยประมาณ 3-4% และพบเบาหวานขึ้นตาได้ถึง15-20% เมื่อเป็นเบาหวานมามากกว่า 15 ปี ระยะต่างๆของเบาหวานขึ้นตา 1. ระยะเริ่มแรก และระยะกลาง (mild to moderate non-proliferative retinopathy) มักพบหลอดเลือดโป่งพองเป็นกระเปาะเล็กๆแทรกตัวอยู่ในชั้นจอประสาทตา และอาจทำให้มีเลือดออกเป็นหย่อมเล็กๆ หรือจอตาบวมจากน้ำและไขมันที่รั่วซึมออกมาจากหลอดเลือดที่ผิดปกติ หากหลอดเลือดผิดปกติเหล่านี้เกิดขึ้นนอกจุดศูนย์กลางตาหรือจุดภาพชัด (macula) ผู้ป่วยอาจยังไม่มีอาการตามัว และจะไม่รู้จนกว่าจะได้รับการตรวจตา ระยะนี้จักษุแพทย์มักใช้การตรวจติดตามดูอาการ หากไม่มีการบวมของจุดภาพชัดก็ยังไม่ต้องรักษาด้วยเลเซอร์ 2. ระยะรุนแรง และระยะท้าย (severe non-proliferative stage to proliferative retinopathy) มีการขาดเลือดของจอตาเป็นวงกว้างและอาจมีหลอดเลือดงอกใหม่ผิดปกติแทรกอยู่ในชั้นจอตา หรือไต่ตามผิววุ้นตา ในระยะท้ายมักเกิดพังผืดดึงรั้งจอตาหรือจอตาหลุดลอกขึ้นด้วย ทำให้ตามัวได้มาก การรักษานอกจากที่จะต้องยิงเลเซอร์แล้ว อาจต้องพิจารณาการฉีดยาเข้าลูกตา หรือการผ่าตัดร่วมด้วย

การรักษาเบาหวานขึ้นจอตา

1. การรักษาทางกาย

     • ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ปกติ หรือใกล้เคียงปกติให้มากที่สุด ระดับน้ำตาลหลังงดอาหาร ไม่ควรเกิน 140 mg/dl และระดับน้ำตาลสะสม (HbA1c) ไม่เกิน 7 g/dl • ควบคุมความดันโลหิตและไขมัน หากมีความดันโลหิตสูง หรือไขมันในเลือดสูงร่วมด้วย • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละครึ่งชั่วโมง 3 วันต่อสัปดาห์

2. การรักษาทางตา

     • การยิงเลเซอร์ มีข้อบ่งชี้ในกรณีที่มีจุดภาพชัดบวม หรือเป็นเบาหวานขึ้นตาระยะรุนแรงขึ้นไป การรักษาด้วยวิธีนี้มิใช่การผ่าตัดจึงไม่มีแผลภายนอก ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล และสามารถกลับบ้านทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ
      • การฉีดยาเข้าลูกตา แพทย์จะพิจารณาการรักษาด้วยวิธีนี้เป็นเฉพาะราย ตามความเหมาะสม การฉีดยาแม้ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล แต่จะมีแผลภายนอกขนาดเล็กมากจากรูเข็มที่ใช้ฉีดตรงบริเวณตาขาว ดังนั้นจะต้องหยอดยาฆ่าเชื้อป้องกันการติดเชื้อต่อที่บ้านเป็นระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์
      • การผ่าตัดจอประสาทตาและวุ้นตา เป็นทางเลือกท้ายสุดในกรณีที่มีเบาหวานขึ้นตารุนแรงมาก และมีพังผืดดึงรั้งจอประสาทตา มักต้องนอนโรงพยาบาล และอาจต้องมีการนอนหรือน่ังคว่ำหน้าหลังจากผ่าตัด ในกรณีที่แพทย์จำเป็นต้องใส่แก๊ซหรือน้ำมันซิลิโคนในลูกตาเพื่อพยุงประสาทตา ผู้ป่วยบางรายอาจต้องการการผ่าตัดมากกว่า 1 ครั้ง

ผลการรักษาจะดีแค่ไหน?

     วัตถุประสงค์หลักของการรักษาเบาหวานขึ้นตา คือ การชะลอการเสื่อมของจอประสาทตา การมองเห็นที่ดีขึ้นมักเป็นผลจากการที่ประสาทตาในส่วนนั้นๆฟื้นตัวจากการเจ็บป่วย แต่หากประสาทตาถูกเบาหวานทำลายไปมากแล้ว สายตาอาจไม่ฟื้น แต่อย่างน้อยก็อาจพอควบคุมการลุกลามของโรคไว้ได้ ดังนั้น ผลหลังการรักษาจะดีมากน้อยเพียงใดก็ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของภาวะเบาหวานขึ้นตา และภาวะแทรกซ้อนอื่นๆจากเบาหวาน ภาวะอื่นๆที่อาจเป็นสาเหตุของการที่สายตาไม่ฟื้นตัวหรือสายตาแย่ลง แม้จะผ่าตัดได้ผลดี ได้แก่ การมีต้อหินแทรกซ้อน หรือการมีภาวะเส้นประสาทตาขาดเลือดร่วมด้วย เป็นต้น